สรุป … เงินจองบ้าน ขอคืนได้หรือไม่ ?
คลายข้อสงสัย – การขอคืนเงินจองบ้าน ขอคืนได้หรือไม่ ทำได้ในกรณีใดบ้าง ตามข้อกำหนดของกฏหมาย
เงินจองคืออะไร
เงินจองตามข้อตกลงแห่ง หนังสือ/สัญญาจองซื้อ หมายถึง เงินมัดจำ ซึ่งเงินมัดจำนี้อาจจะไม่ได้มีเรียก หรือระบุว่า เป็นเงินมัดจำ แต่หากคู่สัญญาประสงค์จะให้เป็นมัดจำ ก็ย่อมเป็นเงินมัดจำ มัดจำไม่ได้ถือเป็นเงินที่ตกลงกันไว้เพื่อเป็นการชำระหนี้ล่วงหน้า แต่เป็นเพียงหลักฐานที่แสดงว่า หนังสือ/สัญญาจองซื้อนั้นได้ทำกันไว้แล้วจริง
อีกทั้งยังเป็นหลักประกันว่า ผู้จองซื้อซึ่งเป็นผู้วางเงินมัดจำจะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อผู้รับจองตามข้อ ตกลงในหนังสือ/สัญญาจองซื้อห้องชุดนั้นด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 377 : “เมื่อเข้าทำสัญญาถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำ นั้น ย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ย่อมเป็นประกัน การที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”
มาตรา 378 : “มัดจำ นั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไป ดังจะกล่าว ต่อไปนี้ คือ ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้ ให้ริบ ถ้า ฝ่ายที่วางมัดจำ ละเลยไม่ชำระหนี้ หรือ การชำระหนี้ ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์ อันใดอันหนึ่ง ซึ่ง ฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือ ถ้ามีการเลิกสัญญา เพราะ ความผิดของฝ่ายนั้น ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำ ละเลยไม่ชำระหนี้ หรือ การชำระหนี้ ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์ อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ”
กรณีก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนด และ กรณีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
เกิดจากฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ เงินมัดจำต้องส่งคืนแก่ผู้วางเงินมัดจำ ตามมาตรา 378 ทั้งนี้คู่สัญญาสามารถตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ตาม มาตรา 378 แต่ต้องไม่ขัดต่อหลักการทำนิติกรรม และต้องไม่ขัดต่อ พระราชบัญญัติข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ข้อ 7. ตลอดจน ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกรรมขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 ข้อ 8.6
กู้ธนาคารไม่ผ่าน เงินจองเป็นของใคร
เมื่อกู้เงินกับธนาคารไม่ผ่าน กรณีย่อมเป็นเรื่องการชำระหนี้เงินซื้อบ้านกับทางโครงการ ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ และก็ไม่ใช่ความผิดของท่านซึ่งเป็นลูกหนี้ ท่านในฐานะลูกหนี้ย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้ค่าซื้อบ้านกับทาง โครงการ และโครงการย่อมไม่มีสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนด้วย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 219 และมาตรา 372
ดังนั้น ทางโครงการจะต้องคืนเงินจองทั้งหมดให้แก่ท่าน และหากไม่คืนกรณีย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของท่านที่จะได้รับเงินจองคืนตาม กฎหมาย ชอบที่ท่านจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเรียกให้โครงการคืนเงินดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ต่อไป
ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องดูในสัญญาและข้อตกลงจะเชื่อคำพูดของพนักงานขายโครงการไม่ได้ เพราะมีเช่นกันที่บอกกับลูกค้าว่าหากเงินกู้ไม่ผ่านแล้วจะคืนเงินจองให้ แต่ไม่ได้ระบุในเอกสารหรือสัญญาอะไรเลย
เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้มีข้อบังคับให้โครงการคืนเงินจองหรือเงินดาวน์แก่ลูกค้าที่กู้ไม่ผ่าน ดังนั้น ลูกค้าควรดูสัญญาให้ดี หากต้องการให้มีการคืนเงินจอง เงินทำสัญญาหรือเงินดาวน์ในกรณีขอสินเชื่อไม่ผ่าน ก็ควรคุยให้โครงการระบุในสัญญา
กรณีเปลี่ยนใจ ไม่อยากซื้อแล้ว
หากกรณีที่ลูกค้าเกิดเปลี่ยนใจในภายหลังไม่ต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดนี้แล้ว ทางโครงการจะยึดเงินจอง เนื่องจากถือว่าเป็นค่าเสียโอกาสในการขายให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ ในช่วงที่เราทำการจองไว้ลูกค้าจะไม่ได้เงินจองคืน
ขอขอบคุณที่มา : TerraBKK.com
เรียบเรียงบทความ “ สรุป … เงินจองบ้าน ขอคืนได้หรือไม่ ? ”
โดย ทีมงาน คลังบ้าน (www.klungbaan.com)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line ID : @klungbaan