4 เรื่องต้องรู้ เครดิตบูโร ก่อนขอสินเชื่อ
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่เรารู้จักกันในนาม เครดิตบูโร มีหน้าที่เก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเครดิตที่ได้รับจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก เพื่อให้สถาบันการเงินสมาชิก ใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์สินเชื่อ หรือ ออกบัตรเครดิต โดยบันทึกข้อมูลเป็นรายเดือนทุกเดือน เหมือนกับการเก็บประวัติการเรียนที่มีอยู่ในสมุดพกของนักเรียนนั่นเองค่ะ
“ทำไมเราต้องไปตรวจเครดิตบูโร”
- เตรียมตัวก่อนไปขอสินเชื่อ-กู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ขอบัตรเครดิต ดังคำว่า “รู้เราก่อนไปหาเขา”
- ตรวจว่ามี “หนี้งอก” หรือหนี้ที่ไม่ใช่ของเราหรือไม่
- ตรวจว่า “มีประวัติค้างชำระหรือไม่” ถ้าข้อมูลไม่ถูกตต้องสามารถข้อแก้ไขได้
- ตรวจว่า “เมื่อชำระหนี้ที่ค้างหมดไปแล้ว” มีสถานะปิดบัญชียอดหนี้เป็นศูนย์หรือไม่
- ตรวจว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล” เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ถูกต้องหรือไม่
“ทำไมขอสินเชื่อไม่ผ่าน”
- นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน
- ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้
- โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อย
- ภาระหนี้ที่มีอยู่และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อ
- หลักประกันความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ เช่น หลักทรัพย์ค้ำประกัน/ผู้ค้ำประกัน
∗ ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้สถาบันการเงินต้องชี้แจงเหตุผลที่ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ขอสินเชื่อทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยต้องทำหนังสือตอบชี้แจงเหตุผลที่ไม่ให้สินเชื่อ และลงทะเบียนจัดส่งไปให้ผู้ขอสินเชื่อ
“ค้างชำระ/ผิดนัดชำระหนี้ ถูกขึ้นบัญชีดำ [Blacklist] จริงหรือ?”
⇒ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลเครดิต ซึ่งมีประวัติการชำระหนี้ที่ดีและไม่ดีของลูกค้าตามที่สถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกจัดส่งให้เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ขึ้นบัญชีดำ [Blacklist] อย่างที่เข้าใจ
⇒ สาเหตุ ที่ท่านไม่ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เพราะเมื่อสถาบันการเงินที่ท่านไปขอสินเชื่อได้ตรวจสอบประวัติการชำระหนี้ของท่านจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด พบว่าท่านมีหนี้เสีย คือ ไม่ชำระหนี้กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการรายอื่นต่างหาก
“หากประวัติเครดิตไม่ดี ควรทำอย่างไร”
กรณีที่ท่านมีประวัติข้อมูลเครดิตไม่ดี มีการค้างหรือผิดนัดชำระควรรีบแก้ไข ดังนี้
- ติดต่อสถาบันการเงินที่เคยเป็นหนี้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างให้เสร็จสิ้น แต่หากมีหนี้คงค้างจำนวนมากควรเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้เพื่อขอลดหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้
- เริ่มสร้างประวัติสินเชื่อใหม่โดยการสร้างวินัยที่ดี ชำระหนี้ให้ตรงเวลาไม่ผิดนัดชำระหนี้อีก เพราะทุกความเคลื่อนไหวในการชำระหนี้ของท่านจะถูกจัดเก็บ
ขอบคุณข้อมูล www.facebook.com/ilovebureau
เรียบเรียงบทความ “4 เรื่องต้องรู้ เครดิตบูโร ก่อนขอสินเชื่อ”
โดยทีมงานคลังบ้าน (www.klungbaan.com)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Line ID : @klungbaan