โสด/ไม่โสด เกี่ยวกับการซื้อบ้านอย่างไร ?
ในการทำนิติกรรมด้านอสังหาฯ ที่สำนักงานที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการ ซื้อบ้าน ขายบ้าน จำนองบ้าน รวมถึงที่ดิน กระทั่งการยกให้เป็นมรดกแก่ทายาท ผู้ที่ทำนิติกรรมจะมีส่วนได้ ส่วนเสียในการทำนิติกรรมทุกครั้ง ยิ่งหากอสังหาฯนั้นมีมูลค่าสูง หากมีการทำนิติกรรมที่เกิดข้อผิดพลาด เกิดการเสียผลประโยชน์กัน ก็จะทำให้มีปัญหาตามมาอีกมากมาย
ดังนั้นเหนือนอกจากการที่ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลามากในการตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียด ระหว่างผู้ซื้อ กับ ผู้ขายแล้ว ยังต้องตรวจสอบถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำนิติกรรมด้วยเสมอ จึงเป็นสาเหตุให้ สถานภาพการสมรส มีส่วนสำคัญ ในการทำนิติกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ยกตัวอย่างเช่น
- ในกรณีของ คู่สมรส เป็นผู้ขาย หากขายได้ คู่สมรสก็ควรต้องรับรู้ตามกฎหมาย
- ในกรณีของ คู่สมรส เป็นผู้ซื้อ ก็ต้องแจ้งให้ชัดเจน ว่าอสังหาฯที่ซื้อมานั้นเป็น สินสมรส หรือ สินส่วนตัว
เจ้าหน้าที่ที่ดินจะมีหน้าที่ตรวจสอบสถานภาพ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง โดยหากเกิดกรณีที่ ผู้ซื้อ-ผู้ขาย แจ้งข้อมูลเท็จให้กับเจ้าพนักงาน เมื่อเกิดกรณีข้อพิพาทขึ้นในภายหลัง เจ้าพนักงานที่ดินก็ต้องเข้าไปเบิกความเป็นพยานในศาล
นอกจากนี้ในกรณีที่สมรสโดยไม่จดทะเบียน โดยหลักการในทางกฎหมายแล้ว คู่สมรสนั้นไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่ก็มักจะมีบางกรณีก็มีการฟ้องร้องภายหลัง (โดยเฉพาะกรณีที่สมรสโดยไม่จดทะเบียนและมีบุตรด้วยกัน) ซึ่งบางครั้งจะมีการดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเรียกทรัพย์สินให้กับบุตร กรณีนี้เจ้าพนักงานที่ดินจะตรวจสอบได้ยากลำบาก
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง จึงทำให้ปัจจุบัน ทุกครั้งที่มีการทำนิติกรรมต่างๆ ทั้งซื้อบ้าน ขายบ้าน ซื้อที่ดิน ขายที่ดิน ฯลฯ ที่สำนักงานที่ดินนั้น เรามักจะได้ยินเจ้าพนักงานที่ดิน ถามเราเสมอๆ ก่อนที่จะให้ผู้มาทำนิติกรรมนั้น ลงนามไว้เป็นหลักฐาน
“ยังโสด หรือ แต่งงานแล้ว ?”
เรียบเรียงบทความ “โสด/ไม่โสด เกี่ยวกับการซื้อบ้านอย่างไร?”
โดย ทีมงานคลังบ้าน (www.klungbaan.com)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
LINE ID: @klungbaan