เช็คเครดิตบูโรมากไป เสี่ยงขอสินเชื่อบ้านไม่ผ่าน จริงหรือ ?
สำหรับใครที่กำลังจะขอสินเชื่อบ้านอาจเป็นกังวลว่า เราติดบูโรหรือไม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไร เดินสเตทเม้นแบบไหนถึงจะน่าเชื่อถือ จนต้องเช็คเครดิตบูโรบ่อยจนเกินความจำเป็น โดยการประเมินเช็คเครดิตบูโรนั้นจะอยู่ที่ 4-9 ครั้ง ในระยะเวลา 3-6 เดือน หากเกินจากนี้จะถือว่าเป็นการเช็คเครดิตบูโรบ่อยเกินไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละสถาบันการเงินนั้นๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สถาบันการเงินเกิดการเข้าใจผิด และลดโอกาสในการขอสินเชื่อบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วในยุคเศรษฐกิจสมัยนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลก หากสถาบันการเงินจะเป็นกังวลหนี้เสียเกินความจำเป็น แล้วส่งผลให้การอนุมัติยากขึ้นกว่าเดิม แล้วเราจะมีวิธีไหนบ้าง ที่ทำให้การขอสินเชื่อบ้านผ่านไปด้วยดี
ศึกษาสถาบันการเงินที่ต้องการกู้
ควรศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆ ของสถาบันการเงินที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของตนเองให้มากที่สุด หากผู้สมัครขอสินเชื่อยื่นพิจารณามากเกินความจำเป็นในช่วงเวลา 3-6 เดือนที่ผ่านมา ทางสถาบันการเงินจะมองว่าผู้ขอสินเชื่อมีความเสี่ยงสูง และส่งผลกระทบต่อการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ ซึ่งในความเป็นจริงบางกรณีที่ผู้ขอสินเชื่อจำเป็นต้องเช็คบูโรบ่อยในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ก็จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงินนั้นๆ ด้วย ผู้ขอสินเชื่อสามารถแจ้งเหตุผลเพื่อชี้แจงกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อของสถาบันการเงินนั้นๆ เพื่อเป็นกรณียกเว้นได้เช่นกัน
สร้างเครดิตให้ตนเอง
สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าการสร้างเครดิตให้กับตนเองนั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากทุกครั้งที่คุณมีบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หรือสินเชื่อบ้าน ประวัติหนี้สินทั้งหมดนี้ รวมถึงประวัติการชำระหนี้ต่างๆ จะถูกส่งไปรวมกับเครดิตบูโร ที่ธนาคารแห่งชาติเป็นผู้ดูแล ทำให้สถาบันการเงินต่างๆ สามารถตรวจสอบเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อบ้านให้กับผู้กู้ได้ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ไม่มีประวัติหรือเครดิตหนี้สินใดๆ จึงทำให้เรื่องการขอสินเชื่อนั้นผ่านได้ยาก
ปิดบัญชีบูโรเก่า
สำหรับบัญชีบูโรเก่าจะจัดอยู่ในหมวดของ ผู้กู้ค้างชำระเป็นเวลานานและหลายงวด หรืออยู่ในขั้นตอนการเจรจาประนอมหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ ข้อมูลนี้จะถูกเก็บอยู่ในเครดิตบูโร หรือที่คนนิยมเรียกกันง่ายๆ ว่า “ติดบูโร” นั่นเอง ดังนั้น เมื่อผู้สมัครสินเชื่อต้องการขอสินเชื่อบ้านจากสถาบันการเงินต่างๆ ผู้ขอสินเชื่อควรจะรีบปิดบัญชีบูโรให้หมดเสียก่อน เพื่อเปลี่ยนสถานะบัญชีของตนเองให้กลับมาเป็น “ปิดบัญชี” เป็นปกติ ก่อนทำการยื่นเอกสารขอสินเชื่อบ้านใหม่ ซึ่งการเคลียร์บัญชีบูโรเก่าจะทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ไม่เห็นประวัติบูโรเก่าตรงนี้
เดินบัญชีธนาคารหลักสม่ำเสมอ
หัวข้ออันดับต้นๆ ของการพิจารณาสินเชื่อบ้านก็คงหนีไปพ้นการเดินบัญชีรายได้ของผู้สมัครนั่นเอง สถาบันการเงินจะพิจารณาจากรายได้หลักของผู้สมัครขอสินเชื่อเท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือจำนวนทุกยอดที่เข้าในบัญชี รวมถึงผู้สมัครสินเชื่อที่มีบัญชีสำรองเป็นเงินเย็นหรือเงินฝากประจำ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้การขอสินเชื่อบ้านผ่านไปด้วยดี ดังนั้นหากต้องการขอสินเชื่อให้ผ่านแบบรวดเร็วผู้ขอสินเชื่อควรทำการเดินบัญชีธนาคารอย่างสม่ำเสมอ
รีไฟแนนซ์ลดภาระหนี้สิน
สำหรับผู้ขอสินเชื่อบ้านสถาบันการเงินจะนำยอดภาระของทุกสินเชื่อมาหักออกจากรายได้ต่อเดือนของผู้ขอสินเชื่อ แล้วนำมาคำนวณว่าผู้ขอสินเชื่อจะมีความสามารถเพียงพอในการชำระหนี้ที่เหลือเท่าไร และนั่นหมายถึงว่าวงเงินสินเชื่อที่ผู้สมัครขอสินเชื่อขอสามารถขอเพิ่มได้ ดังนั้นการขอสินเชื่อไปยังสถาบันการเงินที่มีดอกเบี้ยถูก จะสามารถลดยอดหนี้การผ่อนชำระต่อเดือนได้อย่างง่ายดาย
หลักฐานรายได้ พร้อมช่องทางการติดต่อส่วนตัวและที่ทำงานอย่างชัดเจน
สำหรับการขอสินเชื่อบ้านนั้นสถาบันการเงินจะคำนวณด้านอื่นๆ ประกอบร่วมด้วย เช่น หลักฐานการแสดงรายได้ เบอร์โทรศัพท์ที่ทำงาน หรือเบอร์โทรบ้าน อาจจะฟังดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ให้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าเชื่อ เนื่องจากสถาบันการเงินจะพิจารณาจากเบอร์โทรศัพท์ที่ทำงานที่ติดต่อได้ และสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้สมัครได้ทำงานอยู่บริษัทนั้นจริง ดังนั้นผู้ขอสินเชื่อบ้านควรเก็บเอกสารรายรับให้พร้อมอย่างน้อย 6 เดือน รวมถึงเบอร์โทรศัพท์บริษัท เพื่อให้สถาบันการเงินต่างๆ สามารถติดต่อบริษัทหรือฝ่ายบุคคลเพื่อยืนยันตัวตนของคุณได้ ซึ่งการแสดงหลักฐานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น สถาบันการเงินจะมองว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการติดต่อผู้กู้ได้อย่างง่ายดาย
เรียบเรียงบทความ “เช็คเครดิตบูโรมากไป เสี่ยงขอสินเชื่อบ้านไม่ผ่าน จริงหรือ ?”
โดย ทีมงาน คลังบ้าน (www.klungbaan.com)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
LINE ID: @klungbaan